Chat with us, powered by LiveChat

วิธีเลือกทนายความ

สวัสดีครับ ผมทนายภูวงษ์ครับ ผมจะมาแนะนำวิธีการเลือกทนายความครับ 

ก่อนที่คุณจะตัดสินใจเลือกทนายความให้ทำงานให้กับคุณ คุณควรจะต้องเข้าใจในปัญหาหรือคดีของตนให้ดี เพื่อเตรียมคำถามกับทนายความที่คุณจะว่าจ้าง แต่เมื่อไหร่คุณตัดสินใจเลือกทนายความที่ไร้ความสามารถหรือขาดประสพการณ์ แทนที่จะมาช่วยแก้ปัญหาให้กับคุณ กลับเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับคุณ ดังนั้นทนายความที่มีความสามารถและมีประสพการณ์จะช่วยแก้ปัญหาให้กับคุณเป็นอย่างดี รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับค่าจ้าง

สิ่งที่คุณควรทำคือ
หาข้อมูลเกี่ยวกับทนายความก่อน ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลที่จะให้คุณค้นหา เช่นสอบถามจากเพื่อน คนสนิท สมุดหน้าเหลือง อินเตอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันเพียงคุณคีย์คำว่า "ทนายความ สำนักงานทนายความ 
หรือ Lawyer in Thailand or Thailandlawyers หรือถ้าจะใช้บริการเครือข่ายทนายความของเรา ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ เรามีทนายความทุกจังหวัด เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ชื่อทนายความหรือสำนักงานมากมาย ซึ่งคุณสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้เลยครับ


ขอดูใบอนุญาต ผู้ประกอบอาชีพทนายความจะต้องได้รับใบอนุญาตจากสภาทนายความครับ คือต้องผ่านการทดสอบว่าเป็นผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมาย และได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับมารยาทของทนายความ ทนายความก็เหมือนพระครับ เหมือนตรงที่ บวชมาก พรรษามาก ทนายความก็เช่นกัน ได้รับใบอนุญาตปีใหน ประสพการ์ณก็มีประมาณนั้น แต่ไม่เสมอไปนะครับ บางท่านเกษียณราชการแล้วพึ่งจะมาสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความได้ ใบอนุญาตก็เลยมีเลขปีน้อยหน่อย วิธีดูใบอนุญาตให้ดูหมายเลข 1000/2555 หมายความว่าขึ้นทะเบียนเป็นทนายความลำดับที่ 1000 ของปี พศ. 2555 คาดว่ามีประสพการณ์ในคดีประมาณ 2-3 ปี ครับ แต่ก็อีกแหละ บางท่านใบอนุญาตเลขที่ 1000/2529 แต่ไม่เคยว่าความเลยก็มี อันนี้ก็ใช้วิจารณญาณเลือกเอานะครับ สำหรับผมเอง เดิมใบอนุญาตเลขที่ 543/2531 ได้ใบอนุญาตว่าคดีอยู่ประมาณ 2-3 เรื่อง ตัดสินใจไปเรียนและใช้ชีวิตที่ประเทศอเมริกา จนกลับประเทศไทย มาต่อใบอนุญาตใหม่ เลยได้เลขใบอนุญาตใหม่ เป็น 240/2537 ครับ

สอบถามเกี่ยวกับประสพการณ์ คุณควรสอบถามทนายความท่านนั้นว่า มีประสพการณ์ในปัญหาหรือคดีความที่คุณมีอยู่หรือไม่ ถ้าหากไม่เคยเลยก็ให้คาดเดาได้เลยว่า ทนายความท่านนี้จะพาท่านหลงทางแน่นอนครับ

สอบถามความเชี่ยวชาญ ถ้าทนายความที่เคยทำคดีในกฎหมายหรือพระราชบัญญัตินั้นๆ บ่อยๆครั้งก็จะเกิดความชำนาญและเชี่ยวชาญ ยกตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็ค ทนายความท่านนี้ ว่าความแต่เรื่องเช็คเป็นมาก
ก็จะเกิดความชำนาญและเชี่ยวชาญ

ขอดูสำนวนคดีที่เคยทำมาก่อน ทนายความที่ดีจะต้องเก็บรวบรวมสำนวนคดีที่ตนเคยทำคดีมาก่อน ดังนั้นแล้วท่านขอดูสำนวนคดีที่ทนายความท่านนี้มีอยู่ เป็นการยืนยันว่า มีประสพการณ์ ชำนาญ เชี่ยวชาญจริง

สอบถามเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว ถ้าทนายความท่านที่กำลังจะตัดสินใจเลือกให้ทำงานให้กับคุณ รู้จักกับคู่ความหรือทนายความฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างดี การทำงานอาจจะเกิดความเกรงใจกับ จนทำให้คดีของคุณบกพร่อง
ทางที่ดีคุณควรจะเลือกทนายความที่ไม่เคยมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคู่ความหรือทนายความฝ่ายตรงข้าม ถ้าทนายความที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน คุณก็อาจจะเลือกทนายความจังหวัดข้างเคียงหรือสอบถามเพื่อน

สอบถามค่าทนายความ ก่อนการตัดสินใจเลือกทนายความท่านนี้ คุณควรจะต้องสอบถามเกี่ยวกับค่าจ้างครับ การว่าจ้างเป็นแบบใหน เช่น
            แบบเหมาจ่าย ซึ่งทนายความท่านนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าธรรมเนียมศาล ค่านำหมาย ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ค่าวิชาชีพทนายความ อัตราค่าจ้างเท่าไหร่ถึงเหมาะสมนั้น ตอบยากครับ เอาเป็นว่าสมเหตุสมผลก็แล้วกัน
            แบบแยกรายการ คือแยกค่าธรรมเนียม กับค่าบริการออกจากกันครับ โดยจะมีการแจ้งเป็นใบเสร็จรับเงินในกรณีเป็นค่าธรรมเนียมศาลครับ 
ส่วนค่าบริการคือค่าตัวของทนายความเองนั้นแหละครับ ซึ่งถ้าเป็นการไปว่าความต่างจังหวัด ก็อาจมีค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ต้องถามให้หมดนะครับ 

ตกลงแล้วควรทำสัญญาว่าจ้าง คุณควรจะมีสัญญาว่าจ้างนะครับ เพราะสัญญาว่าจ้างจะมีรายละเอียดทั้งหมดที่คุณได้พูดคุยกันไว้ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆด้วย

สำเนาเอกสารในคดี  เมื่อคุณตกลงว่าจ้างทนายความท่านนี้แล้ว คุณต้องแจ้งให้ทนายความท่านนั้นทราบว่า ทนายความมีหน้าที่รายงานความคืบหน้าของคดี และทำสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องในคดีทั้งหมดให้กับคุณด้วย เอาเป็นว่าทนายมีเอกสารอะไร คุณก็ควรได้รับสำเนาเอกสารนั้นด้วย


คำแนะนำ 10 ประการในการเลือกทนายความ (บทความจากคู่มือต่อติดราชการศาลยุติธรรม)
1. ขอดูใบอนุญาตทนายความ ผู้ประกอบอาชีพทนายความจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาทนายความเท่านั้น

2. สอบถามทนายความว่า มีความสัมพันธ์ส่วนตัวอะไรกับบุคคลที่จะเป็นคู่ความกับตนหรือไม่ เพราะหากมีการแต่งตั้งให้เป็นทนายความแล้ว ทนายความบางคนอาจจะมีผลประโยชน์ขัดกันในการการทำหน้าที่เป็นทนายความให้แก่ลูกความ

3. สอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายในคดีและค่าทนายความเนื่องจากทนายความมีวิธีการเรียกค่าใช้จ่ายและค่าทนายความไม่เหมือนกัน โดยทั่วไป ทนายความจะขอให้ลูกความเล่าเรื่องย่อ แล้วจะให้ความเห็นและแนวทางการปฎิบัติตามกฎหมายก่อน จึงจะกำหนดค่าใช้จ่ายและค่าทนายความ ซึ่งควรสอบถามรายละเอียดหรือข้อสงสัยเพื่อให้ทนายความอธิบายชัดเจนด้วย

4. เมื่อได้สอบถามปัญหาต่างๆจนเป็นที่พอใจว่า จะว่าจ้างทนายความดังกล่าวแล้ว ก็ควรส่งมอบข้อมูลคดีให้ทนายความดำเนินการ

5. ควรขอให้ทนายความทำหนังสือสัญญาว่าจ้างว่าความให้ละเอียดถูกต้องตามเจตนาที่ได้เจรจากันมา หากมีข้อความในหนังสือสัญญาข้อใดไม่ชัดเจน ก็ขอให้ทนายความชี้แจงและขยายความ เพื่อมิให้เป็นปัญหาในภายหลัง

ุ6. ควรเก็บสำเนาเอกสารที่ส่งมอบให้แก่ทนายความตลอดจนเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคดีให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อประโยชน์ในการค้นหาและติดตามคดี

7. ควรติดตามผลคดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินการแล้วก็ตาม เพราะผลดีหรือผลเสียแห่งคดีย่อมต้องตกแก่ตัวลูกความเพียงฝ่ายเดียว

8. หากคู่ความฝ่ายตรงข้ามติดต่อมาหรือมีข้อมูลอื่นเพิ่มเติม ต้องรีบแจ้งให้ทนายความทราบทันที เพราะอาจจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี

9. เมื่อมีปัญหาข้อข้องใจเกี่ยวกับคดี ให้รีบสอบถามหรือขอคำอธิบายจากทนายความทันที อย่ามัวแต่เกรงใจ เพราะปัญหาข้อข้องใจดังกล่าว อาจทำให้ผลของคดีได้รับความเสียหาย หรือกลายเป็นปัญหาใหญ่ติดตามมาก็ได้

10. ค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมที่ชำระให้แก่ศาล ศาลจะออกใบเสร็จให้ทุกครั้ง หากมีข้อสงสัย ควรตรวจสอบใบเสร็จรับเงินจากทนายความ 

      หากในใบแต่งตั้งทนายความกำหนดให้ทนายความมีอำนาจรับเงินจากศาล และคู่ความยังไม่ได้รับเงิน คู่ความควรตรวจสอบจากทนายความว่ามีการรับเงินแทนแล้วหรือไม่

 
Visitors: 243,721