ทำอย่างไรเมื่อตกเป็นผู้ต้องหา
ทำอย่างไรเมื่อตกเป็นผู้ต้องหา
ผู้ต้องหาหรือจำเลย คือผู้ถูกกระทำโดยผลของกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐที่จะควบคุม ประชาชน หรือพลเมือง ให้เกิดความสงบสุข โดยผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่นตำรวจ หรือศาล คำว่า "ผู้ต้องหา" หมายถึงบุคคลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและดำเนินคดี แต่ถ้าเป็นจำเลย หมายถึงผู้ต้องหาที่ถูกฟ้องศาลแล้ว
เมือท่านตกเป็นผู้ต้องหา ท่านก็มีกฎหมายคุ้มครองท่านในฐานะผู้ต้องหา คือมีสิทธิและหน้าที่ เรามาดูเรื่องสิทธิก่อนครับ มีอะไรบ้าง
1. มีสิทธิที่จะไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมเกินความจำเป็น เช่นความผิดเล็กน้อย หมายถึงความลหุโทษ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเอาตัวท่านไปใส่โซ่ตรวน หรือจับเข้าห้องขัง ต้องดูที่ข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจนะครับ
2. ท่านมีสิทธิจะให้การ หรือไม่ให้การก็ได้ ตำรวจจะบังคับให้เราให้การไม่ได้ ถ้าเราไม่ยินยอมให้การ ตำรวจจะบันทึกไว้ว่า "ผู้ต้องหาไม่ยอมให้การ"
3. เจ้าพนักงานตำรวจจับท่านมาแล้ว ต้องแจ้งข้อกล่าวหาทันที ถ้าไม่แจ้งท่านมีสิทธิโต้แย้งให้ตำรวจแจ้งข้อหาให้ท่านทราบก่อน
4. เจ้าพนักงานตำรวจจะข่มขู่ หรือจูงใจให้เราให้การไม่ได้
5. ก่อนที่จะดำเนินการสอบสวน พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งเตือนว่า "ถ้อยคำที่ให้การนั้นสามารถใช้ยังตัวท่านในการฟ้องคดี"
6. กรณีที่พนักงานสอบสวน ดำเนินการสอบสวนไม่ชอบ หรือล่าช้า ผู้ต้องหามีสิทธิร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา ถ้าพนักงานสอบสวนฝากขังท่านที่ศาลแล้ว ท่านมีสิทธิแถลงให้ศาลทราบว่า การสอบสวนล่าช้า ศาลก็จะไต่สวนและสั่งว่าพนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิขังเราต่อไปได้
7. ท่านมีสิทธิได้รับการประกันตัว
8. ท่านมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งที่พนักงานสอบสวน ศาล ไม่อนุญาติให้ประกันตัวต่อศาล
อุทธรณ์
9. ถ้าพนักงานสอบสวน หรืออัยการฝากขัง หรือผัดฟ้องต่อศาล ผู้ต้องหามีสิทธิแถลงคัดค้านคำร้องของตำรวจ หรืออัยการที่ขอฝากขัง
10. ท่านมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความสองต่อสอง (อันนี้สำคัญเพราะเมื่อทนายความเข้าไปในคดีตั้งแต่แรก การดำเนินกระบวนจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพราะทนายความช่วยท่านได้)
11. ได้รับการเยี่ยมตามสมควร
12. ได้รับการรักษาพยาบาลโดยด่วน เมื่อเกิดการเจ็บป่วย (ช่องทางนี้ผู้ต้องหาใช้กันเยอะครับ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม)
หมายเหตุ ถ้าอยากรู้และเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของผู้ต้องหา ให้ท่านหาหนังสือชื่อ "ทำอย่างไรเมื่อไปโรงพัก" เขียนโดยท่านอดีตอธิบดีอัยการ ท่านบุญร่วม เทียมจันทร์ ครับ ท่านเขียนหนังสือในอาชีพข้าราชการของท่านที่เกี่ยวกับกฎหมาย ลองหาซื้อมาอ่านนะครับ เป็นประโยชน์สำหรับตัวท่านและบุคคลที่ท่านรักครับ